โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554
…ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
เสมือน หนึ่งว่าพรรคเพื่อไทยจะให้น้ำหนักกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณ สุขอย่างมีนัยสำคัญ จับสัญญาณจากท่าทีของ วิทยา บุรณศิริรมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่เข้าหารือร่วมกับ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ประเด็นการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน 9.4 ล้านคน ในระบบประกันสังคม (สปส.)โดยเตรียมเชิญ 2 บอร์ดสุขภาพประชุมร่วมภายในสัปดาห์นี้
ล่าสุด ต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข ได้สะท้อนมุมมองต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำและแสดงความชัดเจนในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ผ่านโพสต์ทูเดย์อย่างน่าสนใจ
“ในภาพรวม ประเทศไทยได้ให้หลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนครอบคลุมกว่า 90% และนับว่ามีคุณภาพลำดับ 1 ในอาเซียน 10 ประเทศ”
ต่อ พงษ์ บอกว่า หากเปรียบเทียบระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) กับระบบ สปส.พบว่าแตกต่างเพราะถือกฎหมายคนละฉบับกัน โดยบัตรทองรัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณให้ทั้งหมด ขณะนี้ สปส.รัฐบาลสมทบ 1 ส่วนนายจ้างและลูกจ้างสมทบฝ่ายละ 1 ส่วน
ทว่า สปส.ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกันตนนอกเหนือสิทธิการรักษาพยาบาลอีกหลาย รายการ อาทิ บำนาญชราภาพ ซึ่งแตกต่างกับระบบบัตรทองที่ไม่มีการดูแลหลังเกษียณ
“ผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคมอย่าไปคิดว่าตัวเองเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ แต่ให้คิดว่าเป็นการซื้ออนาคต”
“เหมือน ซื้อประกัน บัตรทองไม่คืนเงินแต่ประกันสังคมคืนเงิน จึงอยากบอกว่ามันไม่มีอะไรเหลื่อมล้ำ และอย่าไปคิดว่าบริการของบัตรทองดีกว่า แล้วก็แห่ไปใช้บัตรทองโดยออกจากประกันสังคมเพราะนั่นเท่ากับการตัดอนาคตของ ตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ต่อพงษ์ มองว่า สปส.ยังมีปัญหาที่ควรปรับปรุง อาทิ สถานพยาบาลยังไม่ครอบคลุม และระบบการจัดคิวให้ผู้ประกันตนใช้บริการยังหนาแน่นเกินไป หากสามารถแก้ไขได้จะทำให้การให้ความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้น
ส่วน ข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ต้องการให้ สปส.ดูแลเฉพาะสวัสดิการทางสังคม และมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลการรักษาพยาบาลนั้น
ต่อพงษ์ เห็นว่า จำเป็นต้องไปถาม สปสช.ก่อนว่าดูแลคนอีกเกือบ 10 ล้านคนไหวหรือไม่
สำหรับ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งมีความชัดเจนในหลักการแล้วว่าจะให้ประชาชนร่วมจ่ายบาง กรณี และยังคงการรักษาฟรีให้กับประชาชนบางกลุ่ม
ต่อพงษ์ อธิบายว่า ศักยภาพของรัฐบาลในขณะนี้สามารถให้บริการรักษาพยาบาลฟรีแก่ประชาชนได้ แต่จุดยืนการนำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากต้องการสอนให้พลเมืองตระหนักถึงการมีส่วนร่วม โดยการร่วมจ่าย ร่วมทำ ร่วมกันดูแลรักษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ใครคนหนึ่ง
“การ บริโภคต้องคำนึงถึงหลักการและเหตุผล ถ้าให้บริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่คำนึงถึงความพอดี ท้ายที่สุดมันก็จะสำรอกออกมา”
รมช.สาธารณสุขรายนี้ ยังวิพากษ์กลไกของ สปสช. อีกว่า สปสช.นับเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันนโยบายรัฐบาลสู่การปฏิบัติ จึงต้องมีกลไกที่เอื้อต่อภาครัฐ แต่หากเครื่องมือเหล่านั้นมีปัญหาหรือเป็นอุปสรรค รัฐบาลก็ต้องใช้อำนาจแก้ไขหรือแก้ พ.ร.บ.เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจบานปลายในอนาคต
“ถ้ามีเวลาผมจะใช้เหตุผลไปอธิบายให้คนชุดเดิมเหล่านี้เข้าใจถึงนโยบายพรรคเพื่อไทย”
อย่าง ไรก็ดี ต่อพงษ์ ยืนยันว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะเพิ่มงบประมาณให้กับ สปสช.ซึ่งจะทำให้หน่วยบริการได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวสูงขึ้น แต่ท้ายที่สุดย่อมขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณว่าจะอนุมัติ วงเงินเท่าใด ที่สำคัญต้องศึกษาต่อไปว่าหากเพิ่มงบแล้วโรงพยาบาลยังเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง แสดงถึงการบริหารจัดการที่ไม่ดีหรือไม่