มติชน ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
เมื่อวันที่24 พฤษภาคม ที่โรงแรมแกรนด์ไชน่า ปริ๊นเซส นพ.นพพร ชื่นกลิ่นรองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเรื่อง”แร่ใยหิน ข้อเท็จจริงที่คนไทยต้องรู้” ว่า แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายที่ไทยใช้เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย กว่าร้อยละ 90 ใช้ในอุตสาหกรรมและการผลิตซีเมนต์ใยหิน เช่น ผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ท่อน้ำ รวมไปถึงเบรก คลัตช์ และกระเบื้องยาง แร่ใยหินจะก่ออันตรายต่อมนุษย์หากทำให้เกิดฝุ่น เช่น การตัด ขัด เจาะ เลื่อยผลิตภัณฑ์ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทเบรก ครัตช์ ที่ใช้ในยานยนต์ ทุกครั้งที่เหยียบเบรก ฝุ่นแร่ใยหินจากผ้าเบรก คลัตช์ ฟุ้งกระจายไปในอากาศ เป็นต้นเหตุของโรคปอดอักเสบ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดเยื่อบุช่องท้องโรคทางระบบหายใจ และโรคผิวหนังซึ่งจะทำให้เกิดอาการผื่นคันรวมทั้งโรคทางระบบหายใจ
“โทษของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพนั้นร้ายแรงเกินกว่าที่นักวิชาการหรือองค์กรสากลระหว่างประเทศจะยอมรับได้ กว่า 50 ประเทศทั่วโลกจึงได้ยกเลิกการใช้อย่างสมบูรณ์ ทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 รับรองยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหินแล้ว” นพ.นพพรกล่าว
ดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า แร่ใยหินทุกชนิดถือเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ การสัมผัสกับแร่ใยหินไม่ว่าปริมาณแค่ไหนก็ถือว่าเป็นอันตรายทั้งสิ้น เพราะก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับปอด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด มีพังผืดหรือคราบในปอด ทำให้เยื่อหุ้มปอดหนาตัวและมีของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอดรวมทั้งอาจก่อมะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ผู้คนราว 107,000 คนทั่วโลกตายเพราะโรคปอดที่มีสาเหตุจากแร่ใยหิน โดยราว 125 ล้านคนทั่วโลกสัมผัสกับแร่ใยหิน
ดร.มัวรีนกล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกมีจุดยืนร่วมกันกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ต่อแร่ใยหินคือ 1.หยุดการใช้แร่ใยหินทุกชนิด ไม่ว่าจะมากจากเหมืองแร่ไครโซไทล์ (สีขาว) โครซิโดไทล์ (สีฟ้า) ฯลฯ เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดความเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน 2.สนับสนุนให้ใช้วัสดุทดแทนอื่นที่ปลอดภัยกว่า3.ป้องกันการสัมผัสกับแร่ใยหินที่มีอยู่เดิมและในระหว่างการรื้อทิ้ง ด้วยการวัดค่าละอองแร่ใยหินในอากาศ ซึ่งต้องควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ และ 4.ยกระดับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูเยียวยาทางสังคมและการแพทย์ให้กับผู้ป่วยเนื่องจากแร่ใยหิน
นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ภาคประชาชนจะมีการผลักดันการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยจะดำเนินการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องการควบคุมสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน และมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ในวันที่ 25 พฤศจิกายน นี้ เพื่อผลักดันให้มีการเลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนห้ามการนำเข้าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์