จี้ สธ.ห้ามรพ.เอกชนเก็บเงินป่วยฉุกเฉิน

ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558
ASTVผู้จัดการรายวัน – เครือข่ายผู้เสียหาย หนุน สธ.ปรับระบบ “เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี” จี้เขียนให้ชัดห้าม รพ.เอกชนเก็บเงินผู้ป่วยเด็ดขาด เหตุถูกเรียกเก็บเงินมหาศาลทุกวัน
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมเปลี่ยนชื่อโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 เป็นต้นมา เป็น “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” ว่า ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนตกเป็นเหยื่อของโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นการที่กระทรวงจะแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องทำให้มีความชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องที่ รพ.เอกชนให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายก่อนนั้นเป็นปัญหามาก ดังนั้น สธ.ต้องเขียนให้ชัดว่าห้ามเก็บเงินผู้ป่วยเด็ดขาด เช่นเดียวกับที่จะตั้งตั้งสำนักงานบริหารระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินใน รพ. ก็ขอให้เขียนให้ชัดว่าตั้งใน รพ.รัฐและเอกชน และเจรจากับ รพ.เอกชนให้ยอมรับเรื่องเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาเพราะว่ารพ.เอกชนไม่ยอมรับ และควรที่พิจารณาเยียวยาให้กับผู้ป่วยที่ถูกรพ.เรียกเก็บเงินจำนวนมหาศาลด้วย ตรงนี้จะทำอย่างไร อีกทั้งเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤตไปแล้วนั้น พบว่าการประสานหาเตียง ผู้ป่วยทำได้ยากมากและไม่เคยว่างเลย กระทรวงต้องแก้ปัญหา
“จนถึงตอนนี้ยังมีประชาชนหลงเข้าไปรักษาใน รพ.เอกชน และถูกเรียกเก็บเงินเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีปัญหาว่าปฏิเสธคนไข้ ให้คนไข้นั่งแท็กซี่ไปรพ.รัฐที่มีสิทธิตามระบบประกันสุขภาพอยู่ จนผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตระหว่างทาง นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น” นางปรียนันท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ เป็นโครงการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย สปสช.ทำหน้าที่เป็นเคลียริ่ง เฮาส์จ่ายค่ารักษาให้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา แต่มีปัญหาเรื่องที่ รพ.เอกชน เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วยจำมาก บางรายสูงถึง 1 ล้านบาท หากไม่จ่ายจะไม่ส่งต่อไปรักษายังรพ.ตามสิทธิ โดย รพ.เอกชนให้เหตุผลว่า สปสช.จ่ายค่ารักษาพยาบาลน้อยกว่าค่ารักษาพยาบาลจริง

เกี่ยวกับ สช.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 หมู่ที่ 4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2832-9000 โทรสาร 0-2832-9001-2 www.nationalhealth.or.th
เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรบ.คุ้มครองฯ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร