ศาลรับฟ้อง’วิทยา’ตั้งบอร์ดสปสช.มิชอบ สช.ชง’ปู’สอบปมบรรเทาขัดแย้ง

ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

 ASTVผู้จัดการรายวัน – ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง7 บอร์ด สปสช. ขณะที่ สช.เสนอ “รัฐบาลปู” ตรวจสอบที่มาของบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ช่วยบรรเทาความขัดแย้ง ด้านนักวิชาการสาธารณสุข ชี้ต้องทำทุกระบบให้เท่าเทียม เสนอกำหนด 3 ระบบทำwork shop ร่วมกัน

วานนี้ (16 ม.ค.) น.ส.บุญยืน ศิริธรรมกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเปิดเผยว่า ตนและนางสุนทรี เซ่งกิ่ง ได้ยื่นฟ้องให้เพิกถอนมติการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สปสช. ทั้ง 7 คน เพราะการสรรหาและคัดเลือกที่ผ่านมามิได้ดำเนินการโดยสุจริต อิสระ โปร่งใส และผิดกฎหมายเพราะองค์ประกอบของกรรมการที่มีอำนาจในการสรรหาและคัดเลือกไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด จนกระทั่งตนได้รับแจ้งจากศาลปกครองกลางว่าศาลได้รับเรื่องฟ้องดังกล่าวแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ 2395/2554 ลงวันที่10 ม.ค. โดยได้มอบให้นายชำนาญพิเชษฐพันธ์ ทนายความจากสำนักงานกฎหมายกิตติพันธ์เป็นผู้แทนในการฟ้องแล้ว ดังนั้น ต่อจากนี้เป็นต้นไปจนกว่าศาลปกครองกลางจะพิจารณาชี้ขาดการออกมติใดๆ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพที่มี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน โดยเฉพาะมติที่เกี่ยวกับการปรับนโยบายการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพหรือมติที่เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จะทำมิได้

“หลังจากได้ยื่นฟ้องศาลปกครองถึงความไม่ถูกต้องในการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิของบอร์ด สปสช. เนื่องจากขัดต่อพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545 กรณีไม่ครบองค์ประกอบของกรรมการ แต่กลับมีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณารับคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะมีผลให้บอร์ดไม่สามารถทำงานได้ และต้องมีการสรรหาบอร์ด สปสช.ใหม่อีกครั้ง ซึ่งศาลรับเรื่องไว้แล้ว แต่ขอให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา” น.ส.บุญยืนกล่าว

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหน้าที่ของบอร์ด สปสช. ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างฝ่ายวิชาการกับการเมือง โดยเน้นประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลักซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือกรณีได้รับความเสียหายจากการบริการ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อผู้ให้บริการบางกลุ่ม ผู้ที่เคยมีอำนาจในการใช้ทรัพยากร อำนาจในการตัดสินใจต่างๆอาจไม่พอใจได้ และยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงของบอร์ด สปสช. ที่อาจไม่ค่อยคุ้นชินกับรายชื่อบอร์ดเท่าไรนัก อาจเกิดคำถามมากมาย ตรงนี้รัฐบาลต้องเข้ามาชี้แจงแก้ป้ญหาให้ระบบพัฒนาได้จริง โดยต้องตรวจสอบการได้มาของบอร์ดสปสช. ชุดนี้ว่า ถูกต้องจริงหรือไม่

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การแก้ไขที่ดีที่สุดต้องทำให้ทุกระบบทุกกองทุนมีความเท่าเทียม เพราะไม่ว่ากองทุนประกันสังคมก็พบว่ามีปัญหาในเรื่องการบริหาร ไม่เข้าใจระบบดีพอขณะที่สิทธิสวัสดิการข้าราชการมีการใช้งบประมาณมากจนเกินไปโดยใช้งบสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาทเพื่อคนเพียง 5 ล้านกว่าคน ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็มีปัญหาในเรื่องของการมองข้ามหน่วยบริการหลักของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำให้เกิดความไม่เข้าใจเหมือนที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ปัญหา รวมทั้งต้องมีการหารือถึงจะทำอย่างไรให้ทุกระบบเท่าเทียมที่สุดโดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลพื้นฐานโดยกำหนดให้ทั้ง 3 กองทุน หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ(Work Shop) หาแนวทางทำอย่างไรให้สิทธิการรักษาพยาบาลพื้นฐานเท่าเทียมกันจริงๆ ซึ่งตรงนี้มองว่า หากทำได้จริงจะเป็นทิศทางที่นำไปสู่มาตรฐานเดียวกันหากรัฐบาลจริงจังกับเรื่องนี้ เชื่อว่าจะเป็นอานิสงส์ครั้งใหญ่ของระบบสุขภาพไทยทีเดียว

เกี่ยวกับ สช.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 หมู่ที่ 4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2832-9000 โทรสาร 0-2832-9001-2 www.nationalhealth.or.th
เรื่องนี้ถูกเขียนใน ระบบประกันสุขภาพ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร