3เดือน…ทวงสิทธิประกันสังคมคืบหน้าแต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย

…ทีมข่าวในประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการภาคประชาชนที่จุดประเด็นเรื่องความมีมาตรฐานและความเท่าเทียมด้านการรักษาพยาบาลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กลายเป็นประเด็นสาธารณะและเกิดการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างขนานใหญ่
“ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน”เป็นตัวละครสำคัญที่มีบทบาทการเคลื่อนไหว ล้อไปกับขบวนการแรงงานในฐานะได้รับสิทธิประโยชน์จาก สปส. ด้วย แม้จะดูไม่ได้มีบทบาทหลักก็ตาม
เหตุผลในการเคลื่อนไหวของชมรมฯ ก็คือเหตุใดผู้ประกันตนเกือบ 10 ล้านคน ต้องจ่ายเงินสมทบรักษาพยาบาลของตัวเอง ในขณะที่คนอีก 47 ล้านคน ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองได้รับการดูแลจากรัฐฟรี
หากไล่เรียงการเคลื่อนไหวตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ชมรมพิทักษ์สิทธิฯ เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าเลขาธิการสปส. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้อเสนอเดียวที่ยืนหยัดมาตลอดคือ เลิกเก็บเงินสมทบการรักษาพยาบาล โดยให้รัฐเข้ามาดูแลผู้ประกันตนให้เท่าเทียมกับผู้ถือบัตรทองแล้วนำเงินส่วนนี้ไปเข้ากองทุนชราภาพเพื่อให้งอกเงยเป็นเงินบำนาญหลังเกษียณแทน
ล่าสุด ได้ยื่นฟ้องศาลแรงงาน ขอให้ สปส.คืนเงินสมทบในส่วนของการรักษาพยาบาลพร้อมดอกเบี้ย 7% นับจากวันที่ 1 พ.ย. 2549 ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาทจากผู้ถือบัตรทอง
“แม้ศาลจะไม่รับฟ้อง แต่เราก็คงต้องเดินหน้าเคลื่อนไหวผลักดันให้เลิกจ่ายต่อไป”สารี อ่องสมหวังโฆษกชมรมผู้พิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ระบุ
เธอประเมินว่าตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีความสำเร็จที่ได้ชี้ให้คนจำนวนมากเห็นข้อเสียเปรียบของผู้ประกันตนที่ได้สิทธิด้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ จนกระทั่งสปส.ต้องปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ครั้งใหญ่ถึง 5 รายการ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา
ประกอบด้วย 1.การเพิ่มค่าผ่าตัดแบบเหมาจ่าย 2.3 แสนบาท/ครั้ง มาเป็นจ่ายตามจริง 1.43-2.92 แสนบาท/ครั้ง แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทั้งผู้ที่ป่วยก่อนและหลังเป็นผู้ประกันตน และในกรณีมีโรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดจ่ายค่ารักษาสูงสุด 4.93 แสนบาท 2.ปรับเพิ่มค่ายากดภูมิคุ้มกันแก่ผู้ป่วยไตวาย เดือนที่ 1-6 หลังผ่าตัดได้ 3.5 หมื่นบาท เดือนที่ 7-12 ได้ 3 หมื่นบาท ปีที่ 2 ได้ 2.5 หมื่นบาท และปีที่ 3 ได้ 2 หมื่นบาท
3.เพิ่มค่ายากระตุ้นเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วยไตวายจากเดิม 750 บาท/สัปดาห์ เป็น 1,225 บาท/สัปดาห์ รวมทั้งค่าฉีดยาเข็มละ 50 บาท 4.เพิ่มค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ จากเดิมที่ให้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน 2,000 บาท/เดือน เป็นผู้ป่วยนอก 2,000 บาท/เดือน
ผู้ป่วยใน 4,000 บาท/เดือน สำหรับโรงพยาบาลเอกชน และสำหรับผู้เลือกลงทะเบียนกับโรงพยาบาลรัฐ ผู้ป่วยนอกรักษาฟรี ส่วนผู้ป่วยในคิดค่าใช้จ่ายตามกลุ่มโรค (DRG) ในอัตรา 1.2 หมื่นบาท/น้ำหนักเฉลี่ยต่อความรุนแรงของโรค (RW)
รวมทั้งเพิ่มค่ารถนำส่งสำหรับเดินทางไปโรงพยาบาลอีก 500 บาท/ครั้ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1ม.ค. ปีนี้เป็นต้นไป 5.เพิ่มค่ายาสำหรับรักษามะเร็ง 7 ชนิด คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากเดิมรายละ 5 หมื่นบาทเป็นสูงสุด 2.72 แสนบาท
อย่างไรก็ตาม สารีมองว่าการปรับเพิ่มสิทธิดังกล่าวไม่ใช่คำตอบสุดท้ายตามที่คาดหวังว่าได้รับ
“สิ่งที่ยังไม่ได้รับคือการหยุดเก็บเงินสมทบเรายื่นหนังสือไปยัง สปส. กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเลย สปส. อ้างว่าจำเป็นต้องเก็บเงินต่อไปเพราะกฎหมายบังคับให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายและ สปส.มีหน้าที่ต้องเก็บ” สารี ระบุ
เธอกล่าวว่าได้อ้างเหตุผลต่อศาลแรงงานว่าทั้ง 3 หน่วยงานไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องให้หยุดเก็บเงินสมทบ ทั้งๆ ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเองก็มีความคิดเห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย…ดังนั้น จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้คืนเงินสมทบแก่ผู้ประกันตน
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ศาลแรงงานปฏิเสธรับฟ้องก็คือต้องให้ผู้ประกันตนไปเจรจาขอคืนเงินจาก สปส.เสียก่อน และมีหนังสือตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ จึงจะยื่นต่อศาลแรงงานเพื่อขออุทธรณ์คำสั่งของ สปส.ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกันตนจึงมีไม่มีทางเลือกมากนัก ยกเว้นแต่ว่าจะ “ดื้อแพ่ง” ด้วยการหยุดจ่ายเงินสมทบเท่านั้น
โฆษกชมรมผู้พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวหลังจากนี้มี 2-3 แนวทางที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน
แนวทางแรก เมื่อศาลแรงงานบอกว่าให้ผู้ประกันตนไปเจรจาขอคืนเงินกับ สปส. ก่อนทางชมรมพิทักษ์สิทธิฯ ก็จะรณรงค์ให้ผู้ประกันตนขอคืนเงินจาก สปส. โดยมีแบบฟอร์มสำเร็จรูปให้ดาวน์โหลด แค่เซ็นชื่อก็สามารถส่งไปถึงสปส.ได้เลย
หลังจากนั้นจึงค่อยดูว่า สปส.จะมีคำตอบกลับมาอย่างไร จากนั้นจึงค่อยผลักดันผ่านกระบวนการศาลแรงงานต่อไป
อีกหนทางก็คือการดื้อแพ่งหยุดจ่ายเงินสมทบเพื่อแสดงอารยะขัดขืนต่อ สปส.นั่นเอง”แนวทางนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากนายจ้างเพราะนายจ้างเป็นผู้หักเงินสมทบจ่าย สปส.แทนลูกจ้าง มาตรการนี้จะมีสัมมนาในวันที่ 30 เม.ย.โดยเชิญนายจ้างมาพูดคุยด้วยแล้วดูว่าจะมีอะไรที่สามารถทำได้บ้าง” สารี กล่าว
นอกจากนี้ ยังเหลือช่องทางของผู้ตรวจการแผ่นดินอีกทางตามที่สภาองค์การนายจ้างได้ยื่นหนังสือไปแล้ว และผู้ตรวจการฯ ก็มีหนังสือไปถึง สปส.ขอให้ปรับปรุงภายใน 30 วันแล้ว ที่เหลือก็ต้องปล่อยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่ว่าจะส่งฟ้องศาลรับธรรมนูญหรือไม่

อารยะขัดขืน…หยุดจ่ายสมทบ?
ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน จัดเสวนา”ผู้ประกันตนเตรียมมาตรการอารยะขัดขืนกฎหมายประกันสังคม”เวลา 08.30-12.00 น. วันที่ 30 เม.ย. ที่ห้องราชเทวีแกรนด์บอลรูม โรงแรมเอเชีย โดยเวลา 09.00-10.15 น. มี นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และนายธงไชย บุญศักดิ์เลิศวิทยา ผู้ประกันตนที่ สปส.ปฏิเสธไม่คุ้มครองผ่าตัดสมอง จนต้องควักเงินรักษาตัวเองมาเล่าทุกข์ให้รับทราบ
จากนั้นเวลา 10.15-11.00 น. อภิปรายหัวข้อ “การจ่ายเงินสมทบเพื่อสุขภาพ ขัดกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ใครรับผิดชอบ?”โดยนายชัยรัตน์ แสงอรุณ สภาทนายความ และเวลา11.00-12.00 น. เปิดวงเสวนาหาทางออกการมีส่วนร่วมและการอารยะขัดขืนกฎหมายประกันสังคมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกันตน โดยมี นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิฯ ดำเนินการอภิปราย

ชี้ช่องลดค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยระหว่างงานสัมมนาเรื่องระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีอาร์ไอ) ว่า จากการศึกษานำร่องโดยการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการร่วมกับการติดตามศึกษาข้อมูลการรักษาพยาบาลของข้าราชการกลุ่มตัวอย่างที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ กลุ่มโรคเบาหวานและกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 4 ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มที่เจ็บป่วยมากกว่าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
นอกจากนี้ จากการทบทวนข้อมูลการรักษาทำให้เห็นว่าผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรังดังกล่าวประมาณ 13-24% ยังไม่ได้รับการดูแลที่ต่อเนื่อง และ 15-50% ยังไม่ได้รับการดูแลครบถ้วนตามแนวทางเวชปฏิบัติแล้วแต่กรณี นอกจากนี้กว่า80% ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้รับการสร้างเสริมสุขภาพที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้
ข้อมูลดังกล่าวพบว่า อัตราการรับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังทั้งสองกลุ่มเข้ารักษาในโรงพยาบาลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงกว่าตัวเลขของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉลี่ยกว่า 3-4 เท่า
คณะผู้วิจัยจึงเสนอให้กรมบัญชีกลางนำแนวทางการจัดการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า Chronic Disease Management มาประยุกต์ใช้ในการจัดการบริการสุขภาพให้กับผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ
แนวทางดังกล่าวน่าจะลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค รวมถึงคุมค่าใช้จ่ายในระยะสั้นและระยะยาวได้

  • โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554
  • หน้า: 8 (ขวา), 9 Ad Value: 262,380 PRValue (x3): 787,140
  • 20110430_708_publicpolicy_Post Today

เกี่ยวกับ สช.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 หมู่ที่ 4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2832-9000 โทรสาร 0-2832-9001-2 www.nationalhealth.or.th
ข้อความนี้ถูกเขียนใน ระบบประกันสุขภาพ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร