คอลัมน์ เพื่อนผู้บริโภค: แร่ใยหินกระเบื้องลอนคู่

โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 06 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
การรณรงค์เรื่องการยกเลิกการใช้กระเบื้องที่มี “แร่ใยหิน” หรือ “แอสเบสตอส” ในประเทศไทยเรายังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แร่ใยหินก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด หากผู้ผลิตหรือแม้แต่ผู้ใช้หายใจเอาแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย ความน่ากลัวของแร่ใยหินทำให้หลายประเทศมีการสั่งห้ามผลิตและใช้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตั้งแต่เมื่อปี 2554 เรื่องแนวทางการบริหารจัดการอันตรายของแร่ใยหิน ตามยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะผู้ประกอบการใช้เหตุผลเรื่องของราคาสินค้าที่อาจต้องปรับสูงขึ้นกลายเป็นภาระของผู้บริโภค
สินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบหลักมากกว่า 90% คือ กระเบื้องซีเมนต์ กระเบื้องทนไฟ กระเบื้องมุงหลังคา เพราะเหตุผลเรื่องความแข็งแรงทนทาน และมีราคาถูกกว่ากระเบื้องแบบไร้แร่ใยหิน แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ สำรวจราคากระเบื้องมุงหลังคาที่มีและไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน พบว่า กระเบื้องที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปจำนวน 7 ยี่ห้อ พบว่ามี 3 ยี่ห้อที่ยังมีการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิต ได้แก่ 1.ตราลูกโลก 2.ตราเพชร และ 3.ตราจิงโจ้
ส่วนกระเบื้องที่ไม่มีการใช้แร่ใยหิน ได้แก่ 1.ตราขวาน 2.ตราห้าห่วง 3.ตราช้าง และ 4.ตรา TPI พบว่ากระเบื้องแบบไร้แร่ใยหินหลายยี่ห้อ ที่ราคาถูกกว่ากระเบื้องที่มีแร่ใยหิน ราคาของกระเบื้องลอนคู่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด การสำรวจได้มีการสอบถามกับผู้รับเหมา พบว่าครึ่งของผู้รับเหมารู้จักแร่ใยหินและส่วนใหญ่เชื่อว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เกี่ยวกับ สช.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 หมู่ที่ 4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2832-9000 โทรสาร 0-2832-9001-2 www.nationalhealth.or.th
เรื่องนี้ถูกเขียนใน แร่ใยหิน และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร