จ่ายชดเชยผู้เสียหายทุกสิทธิไม่ได้

ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
ASTVผู้จัดการรายวัน – วอน “รัชตะ” ดันร่าง กม.คุ้มครองผู้เสียหายเข้าครม. หลัง คกก.ปฏิรูปดันมา 1 ปีแต่ไม่คืบ เปิดช่องคนค้านยิ่งแสดงออก ด้านกรมบัญชีกลางฟันธง ขยาย ม.41 จ่ายค่าชดเชยผู้เสียหายทุกสิทธิไม่ได้
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า หลังจาก นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ลงนามสรุปความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ก.พ. 2557 บัดนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาล จึงเป็นโอกาสให้ผู้ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แสดงความไม่เห็นด้วยยิ่งขึ้น อาจเพราะความเข้าใจผิดในหลายๆ ประเด็น ซึ่งล่าสุดมีความพยายามขอขยายความคุ้มครองตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จากคุ้มครองเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง เพิ่มไปยังผู้ที่ใช้สิทธิอื่นๆ ทั้งประกันสังคม และข้าราชการ
“ข้อเท็จจริงนั้น จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กับอธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่กรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2556 กรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นไว้ว่า เงินมาตรา 41 เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยระบบของเงินงบประมาณแล้ว อาจไม่สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ตามร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายได้ เพราะเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของ สปสช.เพื่อจ่ายให้โรงพยาบาลเพื่อการรักษา แต่ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อชดเชยกับผู้ได้รับความเสียหาย จึงสรุปว่าข้อเสนอในการขยายมาตรา 41 ไม่สามารถทำได้ทางกฎหมาย” นพ.สุธีร์ กล่าว
นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นฉบับของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือกระทรวงสาธารณสุข ล้วนผ่านกระบวนการมาตรฐานเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงการเปิดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย และยังได้มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาใหม่แล้ว ความเห็นแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากว่า 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าหลายประเด็นได้ถูกอธิบายไว้แล้ว หรือแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ไปแล้ว แต่ผู้คัดค้านอาจยังไม่ได้ศึกษาให้ครอบคลุม จึงขอให้ รมว.สาธารณสุข เร่งผลักดันและนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอต่อ ครม.เพื่อรับหลักการ และส่งเข้า สนช.เพื่อให้ทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ได้ใช้เวทีของคณะกรรมาธิการในการถกแถลงร่วมกันอย่างอิสระเปิดเผย เพื่อกฎหมายจะได้เดินหน้าต่อไป

เกี่ยวกับ สช.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 หมู่ที่ 4 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 ประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2832-9000 โทรสาร 0-2832-9001-2 www.nationalhealth.or.th
เรื่องนี้ถูกเขียนใน พรบ.คุ้มครองฯ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร