สกู๊ปพิเศษ: ผู้ประกอบการชี้กฎหมายควบคุมยาสูบใหม่ซ้ำเติมร้านค้าร้องครม.แตะเบรก

แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558
ร้านค้าปลีกยาสูบออกมาเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีหยุด”ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ที่สาธารณสุขได้นำเสนอร่างกลับเข้าสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรอบ 2 โดยไม่รับฟังความเห็นจากภาคเกษตร-เอกชนเพิ่มเติม อ้างปกป้องเยาวชนทั้งที่กฎหมายเดิมมีมาตรการจำกัดอายุเด็กและเยาวชนไม่ให้ซื้อบุหรี่อยู่แล้ว ตอกย้ำผลสำรวจโชห่วยจาก “นิด้าโพลล์” ระบุไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วนและยังเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอยู่แล้วในปัจจุบัน
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า “เจ้าของร้านโชห่วยหลายรายระบุว่าร่างพ.ร.บ. จะส่งผลเสียต่อธุรกิจค้าปลีก สร้างภาระ เพิ่มต้นทุนร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งสวนทางกับนโยบายรัฐบาล และคสช.ในการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก ทางสมาคม จึงขอวอนคณะรัฐมนตรีรับฟังเสียงร้านค้าปลีกรายย่อยและผู้ได้รับผลกระทบก่อนเดินหน้าผลักดันกฎหมายเข้าสู่ ครม. หลังจาก กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมาส่งร่างกฎหมาย กลับคืนสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีโดยไม่รับฟังและไม่แก้ไขใดๆ”
ก่อนหน้านี้จากผลสำรวจร้านค้าปลีก (โชห่วย) ทั่วประเทศ 1,011 ร้านค้าต่อร่างพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยนิด้าโพลล์ ตุลาคม 2557 พบว่า ร้อยละ 90 คิดว่าการผ่านร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ใช่เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรให้ความสำคัญในขณะนี้ เนื่องด้วยร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลร้ายแก่ธุรกิจค้าปลีกขนาดย่อย ทั้งยังไม่สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ตามจุดประสงค์ที่แท้จริง
นางผกาพร สายแก้ว เจ้าของร้านค้าโชห่วย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้ความเห็นว่า “ร่างกม. นี้ยังไม่ใช่เรื่อง เร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องมาปรับเปลี่ยนหรือยุ่งวุ่นวายกับร้านค้าตอนนี้ ช่วงนี้ธุรกิจค่อนข้างเงียบและเป็นขาลงมาตลอด ร้านค้านี่ไม่ใช่ว่าจะขายดีอะไรมากมาย เดี๋ยวจะต้องมาเจอภาษีกีฬาอีก 2% ราคาก็ต้องปรับขึ้น ต้องเข้าใจว่าร้านเราอยู่ในโซนบุหรี่หนีภาษีเยอะ ทางใต้เสรีมากๆ ถ้ากฎหมายห้ามการแบ่งขาย ลูกค้าก็หันไปซื้อของเถื่อน ของเราเสียภาษีนะ แต่จะต้องขายยากขึ้นไปอีก เหมือนกับว่าเราต้องแข่งกับตลาดมืดด้วย ร้านค้าก็แย่สิ สธ. จะต้องรณรงค์เรื่องความรู้ คนที่เขาค้าขายก็ต้องค้าขาย อย่างภาพคำเตือนเต็มซองก็เหมือนกัน ลูกค้าบอกเราเลยว่าก็ไปซื้อบุหรี่นอก เพราะไม่มีภาพ”
คุณปรวีร์ บริทตัน เจ้าของร้านค้าส่ง อ.เมือง จ.เชียงใหม่กล่าวว่า “ผมคิดว่าเราจะมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้จริงมากกว่า ในแง่การปฏิบัติ ทำได้ลำบากหลายครั้งที่ออกกฎหมายแล้วทำไม่ได้จริง แต่เป็นการสร้างช่องทางเจ้าหน้าที่ทุจริต ขายของอยู่ดีๆ มีข้อห้ามประหลาดๆ ขึ้นมาเจ้าหน้าที่ก็ใช้ดุลพินิจเข้ามาจับปรับ ข้อห้ามหลายๆ อย่างในร่างกม.ใหม่ตึงเกินไป ผมยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นปัญหามานาน อย่างฉลากหน้าซอง ภาพ 85% ไม่ได้ส่งผลเลย ยอดขายก็เหมือนเดิม แต่มันสร้างปัญหาให้คนขาย ทุกวันนี้ ขนาดร้านที่จัดอย่างดี แต่ด้วยปริมาณลูกค้าและการจัดของ เรายังหยิบผิดๆ ถูกๆ”
นางวราภรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่าฯ “เห็นด้วยกับเจตนาอันดี ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องเยาวชนให้ห่างไกลจากการสูบบุหรี่ ซึ่งกฎหมายควบคุมยาสูบในปัจจุบันก็มีกฎหมายกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบอยู่แล้วแต่ปัญหาในปัจจุบันคือการขาดการบังคับใช้ที่เข้มงวดและมี ประสิทธิภาพสมาคมฯ เชื่อว่าหากมีการใช้บังคับมาตราดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้ว แทบไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องแก้กฎหมายปัจจุบันเลยเพราะผู้มีอายุไม่ถึงที่กฎหมายกำหนดจะไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้อยู่แล้ว”
จากการสำรวจความคิดเห็นของร้านค้าปลีกทั่วประเทศโดยนิด้าโพลล์ยังพบว่า ร้อยละ 79 เชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่าร่างพ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่มีมาตรการอันสุดโต่งจะสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจ ร้อยละ 52 เชื่อว่ากฎหมายที่เข้มงวดเกินความจำเป็นจะส่งผลให้การบริโภคยาเส้นมวนเองเพิ่มสูงขึ้นซึ่งไม่ได้เป็นการช่วยให้อัตราการบริโภคยาสูบลดลงแต่อย่างใด ในขณะที่ร้อยละ 92 มีความคิดเห็นว่าการบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบจะทำให้กิจกรรมทางการค้าในแต่ละวัน เช่น การสั่งสินค้า การจัดการคลังสินค้า การเติมสินค้า และการให้บริการลูกค้ามีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น และร้อยละ 90 เชื่อว่าการใช้ซองบุหรี่แบบเรียบจะนำไปสู่การปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่สามารถ

โพสท์ใน บุหรี่/ยาสูบ/เหล้า | ติดป้ายกำกับ , | ใส่ความเห็น

สสจ. เปิดรับสมัครองค์กรภาคเอกชนไม่แสวงหากำไรในต่างจังหวัดเข้ารับสมัครเลือกกันเองเป็น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

WWW.ODYFM.COM : เม.ย. 28, 2015

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 39 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน มีบทบาทหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาควิชาการ วิชาชีพ และภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ การจัดให้มีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามประเมินผล เกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชิต และผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบานสาธารณะ
สำหรับจังหวัดชลบุรี คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จะสิ้นสุดวาระในวันที่ 6 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงได้เปิดขึ้นทะเบียนระหว่างบัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 เพื่อให้องค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และส่งผู้แทนสมัครในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อเลือกกันเอง โดยมีกลุ่มต่างๆ ดังนี้ กลุ่มที่ดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิก กลุ่มอาสาสมัคร จิตอาสาร หรือรณรงค์เผยแพร่ กลุ่มด้านการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มพัฒนาในพื้นที่ชุมชน และกลุ่มพัฒนาชุมชน สังคม นโยบายสาธารณะ พิทักษ์สิทธิมนุษยชน การศึกษา ศาสนา หรืออื่นๆ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชั้น 3 อาคารสุขภาพแห่งชาติ 88/39 หมู่ 4 ถนนติวานนท์ 14 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.nationalhealth.or.th หรือโทรศัพท์ 02 – 8329024 – 25 หรือ E-mail : nhcom๓@nationalhealth.or.th

ที่มา : http://www.ody-news.com

โพสท์ใน คสช. | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

เสวนา “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” – นักวิชาการชี้ “ไครโซไทล์” อันตราย รัฐบาลไทยต้องยกเลิกทันที หลังจากยื้อมากว่า 4 ปี

27-5-2558 10-50-11

WebSite THAIPUBLICA

28 เมษายน 2015

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จัดงานเสวนา “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” ในหัวข้อ“อันตรายของแร่ใยหิน สารทดแทน และสถานการณ์ในระดับสากล” ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
นักวิชาการยืนยันไครโซไทล์อันตราย โดยองค์การอนามัยโลกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์กลุ่มร้ายแรงที่สุดแล้ว อีกทั้งปัจจุบันยังมีสารทดแทนและวัสดุทดแทนแร่ใยหินแล้วทุกประเภท โดยเฉพาะสารทดแทนกลุ่มปิโตรเลียมที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง ด้านมาตรการความปลอดภัย ช่างก่อสร้าง ช่างรื้อถอน เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ภาครัฐยังเข้าไม่ถึง จำเป็นต้องให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแร่ใยหินฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศโดยรอบ ด้านภาคประชาสังคมย้ำรัฐบาลยกเลิกแร่ใยหินทันที พร้อมเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากผลักดันนโยบายสู่รัฐบาลมาเป็นการทำงานในพื้นที่ ซึ่งประสบความสำเร็จสูงมากและพร้อมขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นๆ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” ซึ่งคณะรัฐมนตรี ปี 2554 มีมติเรื่อง “มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” แต่จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 4 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า โดยมีวิทยากรดังนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์พรชัย สิทธิศรัณย์กุล, นายไพบูลย์ ช่วงทอง, นายวิญญู วานิชศิริโรจน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติวร ชูสง, นางสาวสุวดี ทวีสุข, นายยุทธศักดิ์ เอี่ยมชีรางกูร, นายธนชัย ฟูเฟื่อง, นางสาวแววดาว เขียวเกษม และนางสมบุญ สีคำดอกแค ดำเนินรายการโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี นักจัดรายการวิทยุของสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแบ่งการเสวนาเป็น 3 หัวข้อ คือ “อันตรายของแร่ใยหิน สารทดแทน และสถานการณ์ในระดับสากล”, “ความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินและมาตรการความปลอดภัย” และ “ประสบการณ์การขับเคลื่อนเพื่อจัดการปัญหาแร่ใยหินในประเทศไทย”

ยกเลิกแร่ใยหินต้องทำทันที ระบุมีสารทดแทนแล้วทุกผลิตภัณฑ์
ศาสตราจารย์นายแพทย์พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แร่ใยหินที่ยังใช้อยู่ในประเทศไทยคือไครโซไทล์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชั้น 1 หรือสารก่อมะเร็งกลุ่มร้ายแรงที่สุดนั่นเอง ไม่ใช่สารก่อมะเร็งกลุ่มรองอย่างในอดีตอีกแล้ว นอกจากจะก่อมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดซึ่งมีความจำเพาะกับแร่ใยหินมาก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งกล่องเสียงแล้ว ยังมีผลกระทบอื่นๆ ต่อสุขภาพ เช่น โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินหรือแอสเบสโตซิส เกิดจุดหรือก้อนในปอด โรคเยื่อหุ้มปอดผิดปกติ อาทิ มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดหนา เนื้องอกในเยื่อหุ้มปอด

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แร่ใยหินอันตราย เป็นหลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ที่องค์กรระดับโลกยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) คณะกรรมาธิการอาชีวอนามัยสากล (ICOH) ฯลฯ ซึ่งสำหรับวงการแพทย์และนักวิชาการด้านสุขภาพของไทยได้ทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และต่างประเทศมานานแล้วในการตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินและพยายามผลักดันให้ยกเลิกการใช้

“ควรแบนแร่ใยหินไครโซไทล์ เพราะอันตรายต่อสุขภาพ โดย WHO จัดทำเอกสารล่าสุดในปี 2557 ยืนยันแล้วว่าไครโซไทล์เป็นอันตราย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ตอบโต้กับกลุ่มตรงข้ามที่มักอ้างเสมอว่าไครโซไทล์ไม่อันตรายหรืออันตรายน้อย ทั้งนี้ในประชาชนทั่วไปต้องระวังการรื้อถอนอาคารที่มีวัสดุแร่ใยหินไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย อีกทั้งต้องพัฒนาระบบการแพทย์ ทั้งด้านการวินิจฉัยโรค การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง” ศ. นพ.พรชัยกล่าว

อีกทั้งยังกล่าวว่า สาเหตุที่ประเทศไทยยังพบผู้ป่วยไม่มาก เนื่องจากระบบวินิจฉัยโรคของไทยยังสู้ระบบการวินิจฉัยของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้วไม่ได้ “เมื่อประเทศที่พัฒนาแล้วยกเลิกการใช้แร่ใยหินหลังจากที่พบข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าไครโซไทล์อันตรายมากมาย ดังนั้นกลุ่มที่สนับสนุนการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยมีข้อมูลอะไรมาบอกว่ายังต้องใช้แร่ใยหินอยู่ ถ้ามีก็ขอให้เอามาบอกกัน”

ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
ศ. นพ.พรชัยกล่าวต่อว่า ประเทศที่เจริญแล้วจะมีกราฟที่แสดงช่วงเวลาการใช้แร่ใยหินสูงสุด และ 30 ปีต่อมาจะพบว่ามีผู้ป่วยจากแร่ใยหินสูงสุดเช่นกัน ซึ่งกราฟทั้งสองนี้มีนัยสำคัญที่สอดคล้องกันด้วย สำหรับประเทศไทยปัจจุบันเริ่มพบผู้ป่วยเหตุแร่ใยหินแล้ว แต่พบไม่มากเพราะระบบการเฝ้าระวัง การแพทย์ และเทคโนโลยีของไทยยังไม่ดีพอ แม้ว่าโรงพยาบาลหลายแห่งพยายามเรียนรู้และรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ก็ไม่มีโรงพยาบาลใดต้องการลงทุนเพราะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ กับภาครัฐได้ หรือการวินิจฉัยปอดจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อขณะมีชีวิตอยู่ในขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ ซึ่งญาติคนไข้และคนไข้ก็ไม่ต้องการเจ็บเพิ่ม

“วัสดุทดแทนมีความแข็งแรงพิสูจน์แล้วจากต่างประเทศ และข้ออ้างที่ว่าถ้ายกเลิกแร่ใยหินแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระเบื้องแร่ใยหินที่ใช้อยู่เดิมรวมมูลค่าหลายล้านบาท เช่น กรณีรื้อคอกหมูนั้น เป็นข้ออ้างที่เกินจริง เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ว่าประกาศแบนแล้วต้องทิ้งวัสดุแร่ใยหินทันที เพียงแต่หากวัสดุเก่าหมดอายุการใช้งานแล้วต้องรื้อถอนอย่างปลอดภัย ส่งไปกำจัดที่สำหรับขยะอันตราย และเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง วันนี้ประเทศไทยไม่ต้องรอพิสูจน์ใดแล้วเพื่อยกเลิกแร่ใยหิน” ศ. นพ.พรชัยกล่าว

ด้านนายไพบูลย์ ช่วงทอง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันเลยเวลาที่สังคมไทยไร้แร่ใยหินมานานแล้ว เพราะตามมติคณะรัฐมนตรีต้องไร้แร่ใยหินตั้งแต่ปี 2554 แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายที่ยังไม่ยอมเลิกใช้แร่ใยหิน และยื้อเวลายกเลิกมาโดยตลอดเพราะเป็นช่วงเวลาทำเงินทำทองของผู้ประกอบการบนความเดือดร้อนของคนอื่น

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ข้อมูลหรือโฆษณาที่กล่าวว่า “ไครโซไทล์ไม่อันตราย” นั้นเป็นคำโกหก เพราะ WHO บอกชัดเจนว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใดมาโต้แย้งข้อเท็จจริงนี้ของ WHO ได้ แต่กลุ่มที่ยังสนับสนุนแร่ใยหินจะใช้ข้อมูลเก่ามาอ้างอิง

สำหรับไครโซไทล์มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ เช่น กระเบื้องหลังคาลอนคู่ ลอนเดี่ยว แต่ปัจจุบันมีสารทดแทนแร่ใยหินทั้งหมดแล้ว ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนี ค้นพบว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งและเริ่มยกเลิกใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2523 โดยภาคอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้างเริ่มไม่ใช่แร่ใยหินโดยรัฐบาลมีข้อตกลงกับผู้ผลิตว่าจะไม่ผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหินสู่ตลาด จนกระทั่งปี 2535 จึงสั่งห้ามผลิตสินค้าที่มีแร่ใยหิน ซึ่งช่วงเวลา 12 ปีนั้นรัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีและหาสารทดแทนในการผลิตใหม่ทั้งหมด

“เยอรมนีใช้เวลาถึง 12 ปีกว่าจะยกเลิกแร่ใยหินได้ เพราะเขาเริ่มต้นเองตั้งแต่ 0 ในขณะที่ประเทศไทยสามารถยกเลิกได้ทันที เพราะมีต่างประเทศให้ดูเป็นตัวอย่างจำนวนมาก แต่ที่ประเทศไทยยังไม่ยกเลิกใช้แร่ใยหินนั้นเพราะความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการ” นายไพบูลย์กล่าว

เช่นเดียวกับในกลุ่มประเทศยุโรป (EU) ที่เริ่มยกเลิกใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ 2548 และปัจจุบันแร่ใยหินเป็นสินค้าต้องห้ามของยุโรปด้วย ซึ่งต่อไปอาจจะทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหาและติดแบล็กลิสต์ของ EU ได้ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ตุรกี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเทรนด์การยกเลิกแร่ใยหินที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้บ่งบอกว่า ประเทศไทยไม่มีเทรนด์อื่นแล้วนอกจากต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เยอรมนีผลิตสินค้าทดแทนผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน คือ ซีเมนต์จากเส้นใย เช่น กระเบื้องลอนมุงหลังคา กระเบื้องแผนเรียบ แผ่นฝ้ากั้นผนัง ท่อระบายน้ำ ท่อระบายอากาศ ซึ่งตลอด 25 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามีคุณภาพไม่ด้อยกว่าสินค้าแร่ใยหิน และทนต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง เช่น พายุ หิมะตก ได้ดีกว่า ส่วนด้านราคาก็ไม่มีปัญหา ผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อได้

“ราคาสินค้าทดแทนแร่ใยหินจะเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5-10 ในช่วงแรกๆ แต่เมื่อยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วทั้งระบบราคาสินค้าจะถูกลงและไม่เป็นปัญหาต่อผู้บริโภค” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับสารทดแทนนายไพบูลย์กล่าวว่า ปัจจุบันมีสารทดแทนแร่ใยหินแล้วครบทุกชนิด ซึ่งมีทั้งสารธรรมชาติและโพลีเมอร์ที่ได้จากปิโตรเลียม ซึ่งในกลุ่มของผ้าเบรกและวัสดุก่อสร้างนั้นประเทศไทยสามารถผลิตสารทดแทนได้เองจากปิโตรเลียม เช่น ไวนิล ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนถูกลงกว่าการนำเข้าแร่ใยหินจากต่างประเทศเช่นปัจจุบัน

“แร่ใยหินยกเลิกวันนี้ได้ และจะเป็นประโยชน์กับทุกคนในประเทศ เพราะประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยมากขึ้น ผู้ประกอบการก็พูดได้เต็มปากว่าผลิตสินค้าปลอดแร่ใยหิน และการยกเลิกใช้แร่ใยหินไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการเจ๊ง เพราะการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 วันหนึ่งจะถึงจุดคุ้มทุน” นายไพบูลย์กล่าวและว่า สินค้าปลอดแร่ใยหินจะเป็นสินค้าฮาลาลที่ทำให้ชาวมุสลิมเลือกใช้สินค้าได้สะดวกใจขึ้น เพราะตามหลักศาสนาอิสลามแล้วห้ามใช้สินค้าที่จะก่ออันตรายต่อชีวิต อีกทั้งสังคมอาจต้องให้ความรู้กับวัดต่างๆ ถึงอันตรายของแร่ใยหิน เนื่องจากบ่อยครั้งที่มีผู้บริจาคสินค้ามีแร่ใยหินให้กับวัด ทั้งนี้ในอนาคตหากผู้บริโภครวมตัวกันก็สามารถฟ้องผู้ประกอบการที่ยังใช้แร่ใยหินได้ เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศ

วิญญู วานิชศิริโรจน์ กรรมการบริหาร สมาคมสถาปนิกสยาม ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
ด้านนายวิญญู วานิชศิริโรจน์ ผู้แทนสภาสถาปนิก กล่าวว่า เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ยังเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์ก็สอนเรื่องวัสดุแร่ใยหินมาตลอด นักศึกษาต่างก็ทราบว่าแร่ใยหินเป็นอันตราย หลายคนก็ตระหนักถึงและให้ความสำคัญ แต่เมื่อเรียนจบมาทำงานจริงๆ ก็พบว่า ในตลาดวัสดุก่อสร้างสถาปนิกมีทางเลือกน้อยมากที่จะไม่ใช้แร่ใยหิน โดยสินค้าในสมัยนั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กระเบื้องซีเมนต์ซึ่งมีแร่ใยหินและกระเบื้องคอมแพคซึ่งก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ไม่ได้ ดังนั้นอาคารส่วนใหญ่จึงต้องใช้วัสดุก่อสร้างที่มีแร่ใยหิน

อย่างไรก็ตาม ในฐานะสถาปนิกก็ตระหนักเรื่องแร่ใยหินอยู่เสมอ และพยายามถามพนักงานขายบริษัทต่างๆ ว่าจะผลิตสินค้าปลอดแร่ใยหินหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน แต่ประมาณปี 2529 ประเทศไทยก็เริ่มมีสินค้าปลอดแร่ใยหินชนิดแรก คือ กระเบื้องยาง ของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งจะผลิตสินค้าทั้งที่มีแร่ใยหินและไม่มีแร่ใยหินเพื่อให้ลูกค้าเลือก ซึ่งปรากฏว่าลูกค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะสถาปนิกเลือกใช้ที่ปลอดแร่ใยหิน จึงทำให้บริษัทผลิตกระเบื้องยางอื่นๆ ต้องปรับตัวเลิกใช้แร่ใยหินเช่นกัน จนปัจจุบันเป็นที่รู้จักแล้วว่ากระเบื้องยางจะปลอดแร่ใยหิน

ส่วนกระเบื้องลอนคู่ที่ใช้มุงหลังคานั้นต่อสู้กันทางตลาดมาอย่างยาวนานมาก แต่บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่และบริษัทส่วนใหญ่ยังคงใช้แร่ใยหินอยู่ อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทรายเล็กที่เริ่มผลิตกระเบื้องไร้แร่ใยหินบ้าง แต่มีจุดที่น่าสนใจคือ การโฆษณาว่าสินค้านี้ไม่มีแร่ใยหินนั้นกลับมีขนาดเล็กมากๆ ในพื้นที่โฆษณา

“ถ้าตลาดมีทางเลือกให้ไม่ต้องใช้แร่ใยหิน สถาปนิกก็เลือกไม่ใช้แร่ใยหิน ซึ่งการผลักดันต้องอาศัยพลังผู้บริโภคอย่างมากเพื่อให้รัฐบาลและผู้ประกอบการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งนี้ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเพียงอย่างเดียวเช่นในอดีตคงไม่เพียงพอแล้ว เพราะปัจจุบันมีสื่อมากมายให้ประชาชนเลือกเสพ” นายวิญญูกล่าว

แร่ใยหินพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและหากรื้อถอนต้องระวังการฟุ้งกระจาย
เสวนาถึงเวลา..สังคมไทยไร้แร่ใยหิน? ในหัวข้อ “ความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินและมาตรการความปลอดภัย”
ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
ในช่วงที่ 2 ของการเสวนา “ถึงเวลา…สังคมไทยไร้แร่ใยหิน?” ในหัวข้อ“ความพร้อมของผู้ประกอบการสู่การยกเลิกใช้แร่ใยหินและมาตรการความปลอดภัย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติวร ชูสง ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการศึกษาการตรวจหาแร่ใยหินอากาศ พบว่า แร่ใยหินพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศทั่วๆ ไปในเมือง อากาศรอบๆ เหมืองแร่ใยหิน อากาศบนท้องถนนซึ่งอาจมีแร่ใยหินหลุดมาจากผ้าเบรก อากาศระหว่างการทุบอาคารที่รื้อวัสดุที่มีแร่ใยหินออกไปหมดแล้ว ฯลฯ โดยที่จำนวนเส้นใยของแร่ใยหินที่พบนั้นอาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าค่ามาตรฐานก็ได้

นอกจากนี้ ในประเทศออสเตรเลียยังได้จัดประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสแร่ใยหินออกเป็น 5 ระดับตามสัดส่วนการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินจากมากไปหาน้อย คือ ผู้ที่ทำงานในเหมืองหรือโรงงานที่ใช้วัสดุแร่ใยหิน ผู้ที่ทำงานก่อสร้าง ผู้ที่ทำงานตกแต่งหรือปรับปรุงบ้านบางส่วน ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนและสิ่งแวดล้อมทั่วไป

ผศ. ดร.ฐิติวร กล่าวต่อว่า จากการวิจัยยังพบว่าหลายๆ ประเทศมีการทำคู่มือการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินอย่างปลอดภัยให้กับผู้รับเหมาและช่างก่อสร้างในประเทศเพื่อรองรับการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ในขณะที่ประเทศยังไม่มีคู่มือดังกล่าว ดังนั้นจึงทำโครงการกำหนดมาตรการควบคุมและขั้นตอนการรื้อถอนซ่อมแซมอาคารที่มีแร่ใยหิน เพื่อศึกษามาตรการที่จำเป็นเบื้องต้นและผลิตเป็นคู่มือให้กับช่างก่อสร้างนำไปปฏิบัติตาม

“หลักการสำคัญของการรื้อถอนวัสดุที่มีแร่ใยหินคือ ระวังการแตกหักโดยเฉพาะบริเวณมุมของแผ่นกระเบื้องหรือฝ้าเพดานระหว่างการถอนน็อตหรือตะปู เพราะจะทำให้เกิดการฟุ้งกระจายในอากาศ ดังนั้นจึงต้องพรมน้ำที่ตัวปูหรือน็อตก่อนการถอนด้วย หลังจากนั้นให้นำวัสดุไปกำจัดตามวิธีการกำจัดขยะอันตรายที่ถูกต้อง” ผศ. ดร.ฐิติวร กล่าว

ปัจจุบันทีมผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือเสร็จเรียบร้อยแล้วในชื่อ “การรื้อวัสดุที่มีแร่ใยหิน” ซึ่งได้เผยแพร่สู่ช่างก่อสร้างและสาธารณชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาช่างรื้อถอนหรือผู้รับเหมาก่อสร้างมีความพร้อมที่จะขึ้นทะเบียนเพื่อรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินอย่างปลอดภัย แต่มีอุปสรรคสำคัญคือ ไม่มีข้อมูลว่าต้องรื้อถอนอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งจากคู่มือดังกล่าวจะต้องทบทวนวรรณกรรมเพิ่มเติมและวิจัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายขนาดการรื้อถอนให้ครอบคลุมอาคารในทุกประเภท

เลิกใช้แร่ใยหินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นางสาวสุวดี ทวีสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยแรงงาน สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องแร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2549 และทำงานมาโดยตลอด แต่ที่ยังไม่สามารถยกเลิกในปัจจุบันเพราะติดอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องประกาศให้ไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 เสียก่อน แต่มติของทุกฝ่ายในขณะนี้คือจะไม่ใช้แร่ใยหิน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีว่าจะยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แต่พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีอันตรายก็ยังจำเป็นต้องบังคับใช้อยู่ เนื่องจากหลังจากประกาศยกเลิกใช้แร่ใยหินแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์แร่ใยหินบางส่วนที่ตกค้างอยู่ในสังคม

“แร่ใยหินจะยกเลิกหรือไม่ ทุกฝ่ายต้องเอาความจริงมาพูดให้สังคมรับทราบว่า แม้จะยกเลิกใช้แร่ใยหินแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหลังคาบ้านทันที ยังสามารถใช้ได้แต่หากรื้อถอนต้องระวังการฟุ้งกระจาย อย่าสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าถ้ายกเลิกใช้แร่ใยหินแล้ว ทุกคนต้องเปลี่ยนหลังคาที่มีแร่ใยหินทั้งหมดในทันที ซึ่งความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของประชาชนเช่นนี้จะกลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านอยู่เสมอ” นางสาวสุวดีกล่าว

นอกจากนี้ ทางกรมแรงงานยังควบคุมความปลอดภัยจากการทำงานโดยกำหนดค่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศ กำหนดระเบียบการทำงาน การใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การฝึกอบรมพนักงานของนายจ้างโดยเฉพาะช่างก่อสร้าง ซึ่งจะให้คู่มือ “การรื้อวัสดุที่มีแร่ใยหิน” แก่นายจ้างเพื่อใช้เป็นแนวทางไปอบรมช่างก่อสร้าง ทั้งนี้ คู่มือดังกล่าวเป็นเพียงวิธีปฏิบัติง่ายๆ ที่คนไทยสามารถทำได้ ซึ่งสำหรับบริษัทข้ามชาติจะต้องมีมาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้น

สำหรับแนวทางการเฝ้าระวังโรคปอดจากการทำงานที่สัมผัสแร่ใยหินนั้น กรมแรงงานทำเฉพาะสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ ยังเข้าไม่ถึงกลุ่มเสี่ยงที่เป็นช่างก่อสร้างที่เป็นผู้รับเหมารายย่อย นอกจากนี้ ประชาชนต้องป้องกันตนเองจากการสัมผัสแร่ใยหินด้วย ส่วนโรงงานที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบนั้นกรณีการผลิตกระเบื้องจะใช้ระบบเปียกจึงไม่มีปัญหาการฟุ้งกระจายมากเท่าโรงงานผลิตผ้าเบรกที่ต้องใช้ระบบแห้งในการผลิตจึงการฟุ้งกระจายสูง

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสถานประกอบการระหว่างปี 2549-2551 พบว่า โรงงานผลิตผ้าเบรกประมาณร้อยละ 90 ไม่ใช่แร่ใยหินแล้ว ซึ่งผ้าเบรกแร่ใยหินที่ผลิตอยู่นั้นเป็นตลาดล่าง

นายยุทธศักดิ์ เอิ่ยมชีรางกูร ผ้าเบรก เอส ซี เอช อินดัสตรี้ ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
ผ้าเบรกปลอดแร่ใยหิน เทรนด์ใหม่ของโลก
ด้านนายยุทธศักดิ์ เอี่ยมชีรางกูร ผู้แทนบริษัท เอส ซี เอช อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ผลิตผ้าเบรกปลอดแร่ใยหิน กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 โดยนำเข้าผ้าเบรกมาจากต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นนำเข้าผ้าเบรกที่มีแร่ใยหิน ต่อมาเจ้าของบริษัทมีความคิดที่จะไม่ใช้แร่ใยหินเลยตั้งโรงงานเพื่อผลิตผ้าเบรกที่ไม่ใช้แร่ใยหินขึ้นในปี 2543 โดยเรียนรู้เทคโนโลยีร่วมกับประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ผ้าเบรกที่ใช้อยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน หากเป็นดิสเบรก ร้อยละ 99 จะไม่ใช้แร่ใยหินแล้ว ส่วนที่เป็นเบรกไลนิ่งส่วนใหญ่จะใช้แร่ใยหิน สำหรับกระบวนการผลิตผ้าเบรกที่เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายมากที่สุดคือการผสมส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งส่วนนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

สำหรับวิวัฒนาการการเลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์เบรกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2513 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่พบว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็ง แล้วเริ่มหาสารทดแทนแร่ใยหิน เช่น เส้นใยเซรามิก เส้นใยคาร์บอน เส้นใยแก้ว Rockwool และเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ แต่ปัจจุบันไม่ใช้เส้นใยแก้วแล้วเนื่องจากมีปัญหาในการผสมรวมกับวัตถุดิบอื่นๆ และต่อมาในปี 2518 ก็กลายเป็นเทรนด์ของโลกที่ไม่ใช้แร่ใยหินผลิตผ้าเบรก ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์

“สารทดแทน เช่น Rockwool ไม่เป็นพิษต่อร่างกายและสามารถย่อยสลายในร่างกายใน 45-60 วัน แต่ปัจจุบันผู้ผลิตยังคงใช้แร่ใยหิน เพราะในการผลิตผ้าเบรกมีส่วนผสมของแร่ใยหินประมาณร้อยละ 40-70 ซึ่งการปรับสูตรไปใช้สารทดแทนจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเป็นพันเท่า เพราะสารทดแทนบางชนิดแพงถึงกิโลกรัมละ 1000 บาท ในขณะที่แร่ใยหินราคากิโลกรัมละ 10 บาท” นายยุทธศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผ้าเบรกสามารถเปลี่ยนไปใช้สารอื่นแทนแร่ใยหินได้ และควรจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินเพราะผู้ประกอบการผ้าเบรกมีความพร้อม และทั่วโลกกำลังยกเลิกแร่ใยหินด้วย เช่น จีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่กำลังเตรียมผลิตดิสเบรกที่ปลอดแร่ใยหินร้อยละ 100 และผลิตเบรกไลนิ่งที่ปลอดแร่ใยหินร้อยละ 70 ทั้งนี้ภาครัฐควรสนับสนุนการยกเลิกแร่ใยหินด้วยเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ภาคประชาสังคมผลักดันการยกเลิกแร่ใยหินเฉพาะพื้นที่
เสวนาถึงเวลา..สังคมไทยไร้แร่ใยหิน? ในหัวข้อ “ประสบการณ์การขับเคลื่อนเพื่อจัดการปัญหาแร่ใยหินในประเทศไทย” ที่มาภาพ : ยุทธศักดิ์ เอิ่ยมชีรางกูร ผ้าเบรก เอส ซี เอช อินดัสตรี้ ที่มาภาพ : พีรัช อาชามาส
นายธนชัย ฟูเฟื่อง หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ทำงานเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ คคส. มาโดยตลอด และพบว่าแร่ใยหินเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคยังไม่รับรู้ ซึ่งชาวเชียงรายถือเป็นพื้นที่กลุ่มเสี่ยงด้วย ดังนั้นจึงเริ่มต้นทำงานขยายผลไปทั่วทั้งจังหวัดเชียงราย เพื่อทำให้เป็นจังหวัดที่ปลอดแร่ใยหิน

อีกทั้งยังกล่าวว่า การทำงานเริ่มแรกคือเสนอแผนงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หลังจากผู้ว่าฯ เห็นชอบก็ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกอำเภอของเชียงรายรวม 18 แห่ง และเลือกพื้นที่นำร่องของแต่ละอำเภอโดยคัดเลือกเทศบาลตำบลที่เหมาะสมมากที่สุด

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เมื่อได้พื้นที่ต้นแบบแล้ว จึงลงพื้นที่ไปให้ความรู้เกี่ยวกับแร่ใยหินกับประชาชนในท้องที่ ทั้งเรื่องวัสดุ ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน อันตราย และวิธีการรื้อถอนที่ปลอดภัย หลังจากนั้นจะให้แต่ละชุมชนหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอันตรายจากแร่ใยหินในพื้นที่ของตนเองอย่างไร แล้วทางทีมงานก็จะสนับสนุนแนวความคิดนั้นเพื่อการปฏิบัติจริง

“ผลสำเร็จของพื้นที่นำร่องแต่ละแห่งคือ การออกประกาศเทศบาลตำบล เรื่อง กำหนดแนวทางการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ให้ปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ซึ่งเริ่มประกาศใช้ในปี 2556 ปัจจุบันมีแล้วรวม 18 ตำบล ซึ่งประกาศนี้จะกำหนดให้ผู้ที่ต้อการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินต้องมาแจ้งการรื้อถอนกับเทศบาล หลังจากนั้นทางเทศบาลจะต้องติดป้ายเตือนว่าเป็นเขตอันตรายกำลังรื้อวัสดุแร่ใยหิน ด้านช่างรื้อถอน ต่อเติม ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานด้วย” นายธนชัยกล่าว

ทั้งนี้ แร่ใยหินเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ซึ่งหน่วยงานต้องออกมาพูดอย่างจริงจังและมีคำสั่งอย่างต่อเนื่อง ด้าน อปท. ต้องสร้างความร่วมมือกับคนในพื้นที่อย่างจริงจังด้วย

ด้านนางสาวแววดาว เขียวเกษม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ เป็นสมาชิกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2552 และทำงานร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ และมีสมัชชาผู้บริโภคที่ผลักดันมติเข้าสู่สมัชชาสุขภาพในปี 2553 ที่มีมติเรื่องมาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยทำข้อตกลงร่วมกับ คคส. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รณรงค์ให้ผู้บริโภคตระนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน

สำหรับการขับเคลื่อนมติเรื่องแร่ใยหินที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือติดตามไปยังนายกรัฐมนตรีของทุกรัฐบาลเพื่อตอกย้ำถึงอันตรายของแร่ใยหินที่รัฐบาลควรยกเลิกทันที แต่การขับเคลื่อนด้วยวิธีก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ทางมูลนิธิจึงปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการผลักดันมาเรื่อยๆ เป็นช่วงๆ โดยยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และล่าสุดได้หันมาทำงานรณรงค์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“ในกรุงเทพฯ แบ่งพื้นที่การทำงานเป็น 6 ส่วน เริ่มจากลงพื้นที่พูดคุยในชุมชน เพื่อสำรวจและให้ความรู้ว่าวัสดุที่มีแร่ใยหินอยู่ในผลิตภัณฑ์ใดบ้าง แร่ใยหินมีอันตรายอย่างไร และประชาชนมีวิธีป้องกันตัวเองรับสัมผัสแร่ใยหินอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า 4 จาก 6 พื้นที่สำรวจมีผู้ป่วยมะเร็งที่สันนิษฐานได้ว่าเกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งมีทั้งช่างก่อสร้าง ช่างตัดกระเบื้อง วิศวกร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองขณะทำงาน และทำงานสัมผัสแร่ใยหินมานานกว่า 10 ปี รวมถึงขอความร่วมมือกับร้านค้าวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ไม่จำหน่ายวัสดุที่มีแร่ใยหิน” นางสาวแววดาวกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การรณรงค์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประสบความสำเร็จมาก และได้ผลดีกว่าการขับเคลื่อนด้วยวิธีการอื่นๆ เพราะรัฐบาลมีเงื่อนไขทางการเมืองและการค้าระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งชี้ชัดว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ผู้บริโภคสู้ด้วยนโยบายไม่ไหว

“เราเสนอนายกรัฐมนตรีตลอดมาว่าแร่ใยหินต้องยกเลิกทันที แต่ผ่านมา 5 ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ถึงแม้ว่านายกฯ จะเป็นเพื่อนกับรัสเซีย แต่การแลกเปลี่ยนต่างๆ ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย และอยากให้สั่งยกเลิกทันทีโดยใช้มาตรา 44 และรณรงค์ให้ประชาชนไม่ใช้แร่ใยหินต่อไปในอนาคต” นางสาวแววดาวกล่าว

สำหรับนางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาเครือข่ายฯ คือการรวมตัวกันของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการทำงาน รวมถึงรับเรื่องราวร้องทุกข์จากแรงงานด้วย เพื่อช่วยเหลือคนจนด้วยกัน และในฐานะที่ตัวเองก็เป็นผู้ป่วยจากการทำงานเช่นกันด้วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ต่อมาเมื่อรับทราบเรื่องแร่ใยหินก็ได้ประชาสัมพันธ์ความรู้ไปสู่แรงงาน เช่น ผ่านการอบรมให้กับเครือข่าย เช่น กทม.-นนทบุรี ปทุมธานี-รังสิต อยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพราะการอ่านเอกสารด้วยตัวเองนั้นเข้าใจยากมาก

นอกจากนี้ในปี 2537 ได้ผลักดันให้เกิดคลินิกโรคจากการทำงานซึ่งปัจจุบันมีกว่า 80 แห่ง เพื่อตรวจรักษาแรงงานที่ป่วยจากการทำงาน ซึ่งในขณะนั้นขาดทั้งแพทย์และคลินิกทำให้ไม่มีข้อมูลแรงงานที่ป่วยจากการทำงาน และตรวจไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรค จะตรวจทราบเฉพาะอาการของโรคเท่านั้น

ต่อมาในปี 2554 จึงได้เข้าร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทยหรือทีแบน (T-BAN) ในการทำหน้าที่ประสานงานและติดตามการทำงานของภาครัฐในการยกเลิกแร่ใยหิน เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้ติดตามการประชุมของ สธ. เพื่อหาข้อสรุปว่าแร่ใยหินอันตรายหรือไม่ โดยติดตามและกดดันอยู่ถึง 2 ปี สธ. จัดประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง ในที่สุด สธ. ก็มีมติว่าแร่ใยหินอันตราย หลังจากนั้นจึงนำมติ สธ. ไปแสดงต่อกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ดำเนินการยกเลิกแร่ใยหิน แต่กลับได้รับคำตอบว่าส่งแผนงานยกเลิกแร่ใยหินไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

“ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า รอมติของ สธ. ก่อนจึงจะเสนอแผนยกเลิกแร่ใยหินไปยัง ครม. แต่เมื่อ สธ. มีมติแล้วกลับบอกว่าเสนอแผนไปยัง ครม. แล้วโดยที่ไม่รอมติ สธ. เลย นั่นก็คือแผนเสนอยกเลิกแร่ใยหินเดิมที่ทำขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั่นเอง” นางสมบุญกล่าว

นางสมบุญกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเป็นคนใจดี แต่ไม่ยอมใช้อำนาจที่มีพิจารณาแล้วสั่งการเองว่ากระทรวงต่างๆ ต้องทำอะไรบ้าง กลับบอกให้กระทรวงต่างๆ ไปคุยกันเอง ซึ่งแต่ละกระทรวงต่างมีผลประโยชน์ต่อกัน ดังนั้น การรายงานข้อเท็จจริงไปยังนายกฯ ก็อาจจะคลาดเคลื่อนจนสร้างความเข้าใจผิด จึงอยากให้ฝากสื่อส่งข้อมูลที่ถูกต้องไปถึงนายกฯ เพื่อให้แก้ปัญหาคนจน ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินทันที และจัดตั้งกองทุนผู้ป่วยโรคจากการทำงานด้วย

ที่มา : http://thaipublica.org

โพสท์ใน แร่ใยหิน | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

สสจ. จัดการประชุมคณะอนุกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี
วันที่ข่าว : 27 เมษายน 2558
วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดชลบุรี ปี 2558 ณ ห้องประชุมวชิรปราการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเป็นไปตาม พ.ศ.2550 ที่มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งบัดนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชุดปัจจุบัน มีกำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 6 ธันวาคม 2558 และคณะกรรมการสรรหาจะต้องดำเนินการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชุดที่3 พ.ศ.2558 ตามหน้าที่และอำนาจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้กระบวนการสรรหา เป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชิตได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาการการสุขภพแห่งชาติในระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานอนุกรรมการ มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

สำหรับกระบวนการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 20(2) แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และคำสั่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 6/2555 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติตระดับจังหวัด โดยมีอำนาจหน้าที่อำนวยกรและบริการจัดการให้การสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติจากผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ตามมาตรา 13(10) ให้เป็นไปตามประกาศ วิธีการหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่คณะกรรมการสรรหากรรมสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติกำหนด และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้จัดส่งรายชื่อผู้แทนองค์กรภาคเอกชนของจังหวัด พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานของอนุกรรมการสรรหาระดับจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติมอบหมายต่อไป

ที่มา :http://thainews.prd.go.th

โพสท์ใน คสช. | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

สปช.จี้’สธ.-สปสช.’ให้ข้อมูลระบบประกันสุขภาพให้ชัด

มติชน ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558
เมื่อวันที่ 26 เมษายน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ระบุให้คนรวยเสียสละไม่ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อนำเงินไปให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีว่า ส่วนตัวเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายถึงให้คนรวยสละ สิทธิการใช้หลักประกันสุขภาพ แต่เป็นการให้คนที่มีรายได้สูงบริจาคเงินเข้าระบบมากกว่า เนื่องจากระบบบริการสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงได้ ส่วนกรณีตนเขียนข้อความในเฟซบุ๊กนั้น เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวเท่านั้น ต้องการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับระบบให้สาธารณชนรับทราบและเข้าใจมากกว่านี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน แต่หลายคนยังไม่เข้าใจระบบหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ สปสช.ถือเป็นตัวอย่างของหน่วยงานของรัฐในประเทศนี้มีการทำงานโปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าในบรรดาหน่วยงานรัฐ ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 27 เมษายน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้จัดแถลงข่าวปรับทัศนคตินายกฯ ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิของทุกคน อย่าทำลาย ด้วยความไม่รู้ ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

โพสท์ใน ระบบสุขภาพ | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

ตั้งคณะทำงานเร่งสางปัญหารพ.ขาดสภาพคล่อง

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558
นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงระบบการแก้ปัญหาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือ รพ.ขาดทุน ว่า ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้โอนเงินเหมาจ่ายรายหัวไปยังหน่วยบริการครบทุกเขตสุขภาพแล้ว ประมาณ 39,700 ล้านบาท และเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้โอนเงินค่าตอบแทนไปยังหน่วยบริการในสังกัด สธ.ครอบคลุมหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และหน่วยบริการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอีกจำนวน 3,000 ล้านบาท
นพ.อำนวยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน ขณะนี้ สธ.ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 1 ชุด โดยมีอาจารย์นวพร เรืองสกุล เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่มาของปัญหา รพ.ขาดทุน และจัดกลุ่มให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทุรกันดาร จำนวน 137 แห่ง ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นการเฉพาะ และโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ แต่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เช่น พื้นที่ที่มีประชากรเบาบางกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะดูข้อมูลการเงินการบัญชี การจัดการ วางระบบแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับโรงพยาบาลที่มีปัญหาในระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จขึ้น เพื่อให้คลายความกังวลให้ผู้ทำงานในพื้นที่สามารถจัดบริการประชาชนทุกคนได้อย่างเต็มศักยภาพและมีคุณภาพ ทั้งนี้ สธ.และ สปสช. จะมีการทำงาน ร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนพัฒนาระบบข้อมูลการเงินทั่วประเทศให้สมบูรณ์ต่อไป.

โพสท์ใน เขตสุขภาพ | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

สธ.เร่งคลอดเกณฑ์ร้านยาคุณภาพ

ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558
ASTVผู้จัดการรายวัน – สธ.เร่งทำหลักเกณฑ์ตรวจประเมินร้านยาคุณภาพ ให้เวลาร้านยาเปิดก่อน 25 มิ.ย. 57 ไม่เกิน 8 ปี ปรับปรุงคุณภาพมาตรฐาน พร้อมคุมการใช้ยาไม่ เหมาะสม สั่งยาแก้ไอไปทำยาเสพติด การขายยาสเตียรอยด์
วานนี้ (26 เม.ย.) ที่เมืองทองธานี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 7,000 ร้านทั่วประเทศ ว่า สธ.มีนโยบาย ยกระดับร้านขายยาแผนปัจจุบันเป็น “ร้านยาคุณภาพ” โดยออกกฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาตและการขอใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ.2556 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2557 เป็นต้นมา ในขณะนี้มีโครงการนำร่องร้านขายยาคุณภาพใน 27 จังหวัด
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือร้านขายยา ร่วมแก้ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสม โดยควบคุมการจำหน่ายยาแก้ปวด พบกลุ่มวัยรุ่นนำไปผสมกับยาแก้ไอ แก้แพ้ชนิดน้ำเชื่อม ที่ขายผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดอาการมึนงง เคลิ้ม หากใช้เกินขนาด อาจเสียชีวิตได้ และยากลุ่มสเตียรอยด์ มีการนำไปปลอมปนในยาแผนโบราณ มีการโฆษณาแพร่หลายทางโทรทัศน์ดาวเทียม สถานีวิทยุชุมชน การขายตรงในรูปแบบอาหารเสริม โอ้อวดสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า การต่ออายุใบอนุญาตร้านขายยาจากนี้จะต้องผ่านการตรวจประเมิน มาตรฐานจีพีพี โดยขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจประเมิน พร้อมทั้งจัดทำคู่มือตรวจประเมินให้เจ้าหน้าที่ โดยจะจัดประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศและแจ้งให้ร้านขายยาเตรียมความพร้อมในการตรวจประเมิน ส่วนร้านยาที่ขออนุญาตก่อนกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ ยังมีเวลาปรับปรุงไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านขายยาแผนปัจจุบันทั้งคนและสัตว์ทั้งหมด 19,245 ร้าน ในจำนวนนี้ผ่านการรับรองจาก สภาเภสัชกรรม เป็นร้านยาคุณภาพแล้วจำนวน 972 ร้าน

โพสท์ใน การเข้าถึงยา | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

สกู๊ปหน้า1: จับตาร่างรัฐธรรมนูญกฎหมายเพื่อคนจน

ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558
7 วัน…6 คืน นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนจนถึงวันที่ 26 เมษายน เป็นห้วงระยะเวลาที่ประชาชนคนไทยตั้งตารอดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่ถูกนำมาอภิปรายอย่างละเอียดรายมาตรา โดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 250 คน
รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปร่างแรกนี้ถูกยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจำนวน 36 คน โดยมีทั้งหมด 315 มาตรา ที่น่าสนใจคือเป็นครั้งแรกของการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีหมวด… “ปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” และ “สร้างความเป็นธรรม”
ไล่เรียงตั้งแต่มาตรา 279 ถึงมาตรา 296…แต่ละมาตราถูกยกร่างขึ้นจากข้อเรียกร้องจากเครือข่ายพลเมืองต่างๆ อาทิ เรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ธนาคารแรงงาน ระบบการออม การศึกษา
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้ได้บัญญัติในมาตรา 294 อย่างชัดเจนว่าให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเครือข่ายฯได้เตรียมร่างกฎหมายไว้แล้ว เรียกว่า…“กฎหมายเพื่อคนจน”
“ร่างกฎหมายว่าด้วยธนาคารที่ดิน…ว่าด้วยโฉนดที่ดินชุมชน หรือสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และว่าด้วยการจัดเก็บภาษีที่ดิน…สิ่งปลูกสร้าง”
นอกจากนี้ในมาตรา 284 ยังระบุเรื่องการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ ให้มีองค์กรบริหารพัฒนาภาคหรือกลุ่มจังหวัด เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆที่ตั้งอยู่ในภาค หรือกลุ่มจังหวัด และกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จัดทำแผน…บริหารงบประมาณพัฒนาแบบพื้นที่ เพื่อดำเนินการพัฒนาภาคที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัด…องค์กรบริหารท้องถิ่น
ในเรื่อง การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้เราจะมีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งแต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานอิทธิพลของทุนที่ได้ทำลายทรัพยากร สิ่งแวดล้อมในบ้านเราไปเป็นจำนวนมากได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 287 จึงระบุเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน โดยให้มีการดำเนินการปฏิรูประบบ…โครงสร้างองค์กร และปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล การจัดการขยะ…ของเสียอันตราย กฎหมายด้านสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจ
รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและการพัฒนาเมือง นอกจากนี้แล้วยังจะให้มีการพัฒนาระบบการจัดทำรายงานประเมิน
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ โดยไม่อนุญาตให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาทำการประเมินอีกต่อไป
ที่สำคัญ…ยังระบุถึงการจัดระบบภาษีสิ่งแวดล้อมที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังวิกฤติ…ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบ และยังมีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ การบริหารจัดการทรัพยากร…สิ่งแวดล้อม ให้ประชาชน…ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
สำหรับ…“การปฏิรูปด้านสังคม” นพ.ชูชัย ชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุเรื่องปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมทั้งด้านการให้บริการสังคม การประกันสังคมทุกกลุ่มวัย การช่วยเหลือทางสังคม การสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคมที่มีความครอบคลุมเพียงพอ ยั่งยืน มีคุณภาพ เข้าถึงได้ และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ
โดยเฉพาะ “ผู้สูงอายุ” ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกือบ 10 ล้านคน…ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุ 14.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากร…เราจึงกำหนดให้จัดทำแผนระยะยาว ดำเนินการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ จัดให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชรา เตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุที่เหมาะสม
พร้อมๆไปกับการปรับปรุงระบบการเกษียณอายุ…ปฏิรูประบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ เพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างเหมาะสม
ต่อเนื่องในเรื่อง…“การปฏิรูปด้านแรงงาน” ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ มาตรา 289 ระบุให้มีการปฏิรูปตามแนวทางดังต่อไปนี้ หนึ่ง…ให้มีการตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานในการสมาคม การรวมตัวกัน และการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
สอง…สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออม และพัฒนาตนเอง…อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ให้รู้อีกว่า…การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคำนึงถึงความสำคัญใน “การปฏิรูปด้านการศึกษา” …ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าระบบการศึกษาไทยล้มเหลวในทุกด้าน ไม่ว่าใช้เครื่องมือใดประเมิน เพราะขาดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ทรัพยากร และขาดระบบความรับผิดชอบในทุกขั้นตอน
สาระสำคัญบางประการที่ได้บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 286 ประเด็นแรก…กระจายอำนาจการจัดการศึกษา โดยลดบทบาทรัฐจากการเป็นผู้จัดการศึกษาให้เป็นผู้จัดให้มีการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งกำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา
ถัดมา…ส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีอิสระ มีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา โดยให้เอกชน ชุมชน องค์กรบริหารท้องถิ่น มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม
ประเด็นที่สาม…จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่ผู้เรียนทุกคนอย่างพอเพียง ตามความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับการศึกษาระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยม ทั้งการศึกษาสายสามัญ…สายอาชีพ และสุดท้าย… พัฒนาระบบการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการคิด การใช้เหตุผล การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ
ในร่างรัฐธรรมนูญยังระบุอย่างชัดเจนว่า บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญภาคนี้นั้นก่อให้เกิดความรับผิดชอบแก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูป…การสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้….
เมื่อมีความรับผิดชอบจึงเป็นหน้าที่ หากไม่ดำเนินการถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยในมาตรา 102 ได้บัญญัติไว้ว่า… “ในกรณีที่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎ หรือดำเนินการใดเพื่อให้การเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ผู้มีหน้าที่เสนอหรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมาย หรือกฎ หรือกระทำการดังกล่าวไม่ดำเนินการ หรือไม่กระทำการภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือภายในเวลาอันสมควรในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเวลาไว้…
…ทำให้การปฏิบัติการตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่บังเกิดผลให้ถือว่าคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ผู้มีหน้าที่เสนอ หรือผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมาย หรือกฎ หรือมีหน้าที่กระทำการนั้น…ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น ผู้เสียหายย่อมฟ้องรัฐให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้”
“การปฏิรูป”…เพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ”…“สร้างความเป็นธรรม” ที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายส่วนที่ต้องผ่านการพิจารณาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
คนไทยทุกคนควรต้องติดตาม เพราะนี่คือ…ก้าวแรกแห่งโอกาสการเปลี่ยนแปลง ที่จะกำหนดและชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย.
ให้รู้อีกว่า…การยกร่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคำนึงถึงความสำคัญใน”การปฏิรูปด้านการศึกษา”…ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าระบบการศึกษาไทยล้มเหลวในทุกด้านไม่ว่าใช้เครื่องมือใดประเมินเพราะขาดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณทรัพยากรและขาดระบบความรับผิดชอบในทุกขั้นตอน

โพสท์ใน ทั่วไป | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

ยกเลิกแร่ใยหินส่อแววแท้ง’จักรมณฑ์’ ยันกระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้อยู่ไม่เกิดปัญหา

ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26 – 29 เมษายน พ.ศ. 2558
นโยบายยกเลิกใช้แร่ใยหินของกระทรวงอุตสาหกรรมไปไม่รอด “จักรมณฑ์” ยันต้องศึกษาให้รอบคอบ ไม่เสนอครม.ให้ตัดสินใจ หวั่นผิดข้อตกลงทางการค้านำเข้าแร่ใยหินจากรัสเซีย และนานาประเทศก็ยังมีการใช้อยู่ ผลกระทบต่อสุขภาพยังไม่ชัดเจน ด้านกรอ.รับลูก ยกเลิกทันทีมีผลกระทบต่อผู้บริโภคต้องเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา เชื่อลากยาวไม่ทันครม.อนุมัติภายในปีนี้
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเดิมที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ กับสินค้า 6 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกกระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้น กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 2 ปี และกลุ่มที่ 2 กลุ่มกระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรก และคลัตช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 5 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 เกี่ยวกับมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินที่เห็นชอบในการห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์เฉพาะกรณี และห้ามผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ที่ใช้วัตถุดิบอื่นหรือใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้นั้น
โดยที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกด้านแล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าการใช้แร่ใยหินจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนประกอบกับมติครม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 ที่เห็นชอบให้คณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยรัสเซีย ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาศึกษาเพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ และจัดทำข้อเสนอแนะในการใช้แร่ใยหินผลิตผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย ที่จะร่วมแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งหากยกเลิกการใช้ทันทีเท่ากับว่าห้ามนำเข้าแร่ใยหิน ซึ่งจะขัดกับข้อตกลงทางการค้ากับรัสเซีย ดังนั้น จะต้องมาศึกษาร่วมกันว่าจะหาทางออกเรื่องนี้ได้อย่างไร
ประกอบกับเห็นว่าการนำเข้าแร่ใยหินในแต่ละปีก็มีมูลค่าไม่กี่ร้อยล้านบาท อีกทั้งการนำแร่ใยหินไปใช้ในผ้าเบรก คลัตช์ กระเบื้องยางปูพื้นและกระเบื้องแผ่นเรียบ ก็มีการใช้วัตถุดิบชนิดอื่นไปทดแทนแล้ว จะเหลือเพียงกระเบื้องมุงหลังคาเท่านั้นที่ยังมีการใช้แร่ใยหินอยู่ และเท่าที่พบก็ยังไม่เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในหลายประเทศทั่วโลกก็ยังมีการใช้อยู่ แม้แต่ทางสหรัฐอเมริกาหรือในอาเซียนเองก็ไม่ได้ห้ามการใช้ ดังนั้น การจะเสนอนโยบายยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ให้ครม.พิจารณาคงจะต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในแผนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ตาม
นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการยกเลิกแร่ใยหินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคงต้องยุติไว้ก่อน เพื่อมาทบทวนผลศึกษาให้ครบทุกมิติ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ หรือองค์การการค้าโลก(WTO) และสิทธิสัญญาว่าด้วยการกำจัดของเสียอันตราย อีกทั้งจะต้องพิจารณาว่าเส้นใยจากแร่หินบะซอลต์สามารถนำไปทดแทนแร่ใยหินในกระเบื้องมุงหลังคาได้หรือไม่ และมีความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นมติครม.ที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปทบทวนแผนการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และให้หาวัตถุดิบมาทดแทนให้ได้ ก่อนที่จะตัดสินใจ
โดยระหว่างนี้การใช้ผลิตภัณฑ์กระเบื้องมุงหลังคาคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทไหน ระหว่างมีแร่ใยหินและไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากราคาและคุณภาพความคงทนแตกต่างกัน
“หากยกเลิกการใช้แร่ใยหิน จะต้องเสนอครม.พิจารณาให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามมีไว้ในครอบครอง ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องรื้อกระเบื้องมุงหลังคาทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีแผนที่จะกำจัดทำลาย และคงต้องกระทบกับประชาชนผู้ใช้ ดังนั้นหากปัจจัยหลายๆ ด้านที่กล่าวมา มองว่าการจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และคงไม่สามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ เพราะจะต้องศึกษาและเตรียมแผนรองรับให้รอบด้าน”

โพสท์ใน แร่ใยหิน | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น

รายงาน: จับตาเทรนด์ใหม่วัสดุก่อสร้างปลอดแร่ใยหิน

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558
ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากแร่ใยหิน มีมติและประกาศว่า”ไครโซไทล์” (แร่ใยหิน) ทุกชนิดเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่อระบบทางเดินหายใจรวมถึงโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและมีมติให้เลิกใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 ที่ให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่กลับยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
ทั้งที่ในปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายหันมาใช้วัสดุทดแทนเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้า ซึ่งมีคุณภาพดีและมีราคาใกล้เคียงกับวัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินในปัจจุบัน อาทิ สารทดแทนประเภท PVA ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ ช่างรวมถึงเจ้าของบ้านผู้อยู่อาศัยท่ามกลางข้อเรียกร้องของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และภาคประชาสังคม ผ่านเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) ซึ่งต้องการให้ภาครัฐหันมาให้ความสนใจกับสุขภาวะอนามัยของคนไทย แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจและการค้า รวมถึงผลกระทบที่ตามมา!!
ดังนั้น แนวทางการป้องกันความเสี่ยงจากพิษภัยและอันตรายจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น จึงเหลือเพียงช่องทางของความรู้เท่าทัน และการรับรู้ข้อมูลด้วยตนเอง ที่ในปัจจุบันคงมีเพียง “ฉลากผลิตภัณฑ์” และ “คำแนะนำ” จากผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่จะเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ได้
สมบุญสี คำดอกแค” แกนนำเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย(T-BAN) กล่าวว่า ที่ผ่านมาแร่ใยหินที่มีใช้กันในอุตสาหกรรมไทยมากว่า 30-40 ปีและมีผสมอยู่ในสินค้าหลากหลายประเภทโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประเภทวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ทั้งในกระเบื้องมุงหลังคาและท่อซีเมนต์ ซึ่งเมื่อมีการระเหยหรือการตัดเจียร ก็จะเกิดเป็นฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายเมื่อมีการสูดดมเข้าไปก็จะก่อให้เกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและปอดตามมา รวมถึงโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งเยื้อหุ้มปอด ซึ่งมีข้อมูลผู้ป่วยจำนวนมาก และมีประกาศยืนยันจากองค์การอนามัยโลก หรือWHO โดยกว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ ฉะนั้นกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง และกรณีของพิษภัยที่เกิดจากแร่ใยหินนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานที่ต้องการให้ภาครัฐหันมาบังคับใช้กฎหมายและยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างเคร่งครัด ในวันแรงงาน 1 พ.ค.นี้ด้วย
“นอกจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานแล้ว อันตรายและพิษภัยจากแร่ใยหิน ยังมีแนวโน้มลุกลามไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยมีการสำรวจพบผู้ป่วยแล้วหลายรายในประเทศไทย จึงเป็นข้อเรียกร้องต่อภาครัฐเกี่ยวกับการให้มีการบังคับใช้กฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 แต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร จึงเหลือแต่เพียงการขอความร่วมมือและปลุกจิตสำนึกรับผิดชอบให้กับภาคเอกชน ร้านค้า และผู้บริโภคที่จะร่วมมือกันลดความเสี่ยงของคนไทยต่อโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งเยื้อหุ้มปอดที่เกิดจากแร่ใยหิน ผ่านฉลากผลิตภัณฑ์ที่แจ้งเตือนถึงข้อมูลต่างๆ ให้ได้รับทราบ” แกนนำเครือข่าย T-BAN กล่าว
ขณะที่สถานการณ์การใช้แร่ใยหินในประเทศไทย และแนวทางการสร้างจิตสำนึกและความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชน ร้านค้า และผู้รับเหมา กำลังอยู่ในช่วงของการรณรงค์ผ่านฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อกระจายข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากแร่ใยหิน ให้ลงไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
สมมาตร อ้วนสกุลเสรี” เจ้าของร้านวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่าที่ผ่านมาทางร้านก็ได้ให้ข้อมูล และชี้ให้เห็นถึงฉลากแจ้งเตือนบนผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วนผ่านทั้งการปิดป้ายหน้าร้าน และการให้คำแนะนำ โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าทดแทนที่ไม่มีส่วนผสมของวัสดุจากแร่ใยหินทั้งในด้านราคาที่มีความแตกต่างกันน้อยมากรวมถึงในด้านความคงทนแข็งแรงที่กลับพบว่ามีความแข็งแรงมากขึ้น ค่าของความเสียหายจากสินค้าทั้งการขนส่งและการเก็บลดลงเดิม10% เหลือเพียง 2% เท่านั้น
“ในปัจจุบัน ผู้บริโภคเข้าใจและกลายเป็นกระแส โดยประมาณ 80% ของผู้บริโภค เมื่อเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างก็จะเน้นลงไปเลยว่าจะต้องไม่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ซึ่งในส่วนนี้ก็อยากขอความร่วมมือให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ผลิตรายใหญ่ ร่วมกันให้ข้อมูลและรณรงค์ ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อโรคร้าย ที่จะต้องเสียงบประมาณในการรักษา และให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับการตัดสินใจในการซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง”
ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ล่าสุดของการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยที่เรื่องของการยกเลิกและบังคับใช้กฎหมาย อาจถูกเมินจากภาครัฐแต่จากความพยายามของหลายฝ่ายที่พลิกโฉมจากการเรียกร้องภาครัฐ กลายมาเป็นการขอความร่วมมือ และนำไปสู่กระแสสำนึกแห่งความรับผิดชอบร่วมกัน อาจเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดอนาคตสุขภาพของคนไทยให้ห่างไกลจากแร่ใยหิน และความเสี่ยงจากโรคร้ายอย่างมะเร็งปอด เพื่อเดินหน้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่ภาคอุตสาหกรรมและสังคมไทยจะปลอดจากแร่ใยหินอย่างถาวร

โพสท์ใน แร่ใยหิน | ติดป้ายกำกับ | ใส่ความเห็น